การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐
(ฉบับที่...) พ.ศ. ...

ประกาศกรมศุลกากร

เพื่อให้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมศุลกากรจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร (www.customs.go.th) หัวข้อ "การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่...) พ.ศ. ..." หรือดาวน์โหลดไฟล์เอกสารจากเว็บไซต์ข้างต้น และส่งมายังช่องทาง ดังต่อไปนี้


(๑) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ icd.thaicustoms@gmail.com

(๒) ดาวน์โหลดและนำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ณ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ชั้น ๓ อาคาร ๑ กรมศุลกากร เลขที่ ๑ ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๑๐


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ เพื่อกรมศุลกากรจะได้รวบรวมความคิดเห็นและนำมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป


๑. สภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายและความมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์
ที่พึงประสงค์
๑.๑ การตีความพิกัดอัตราศุลกากรที่แตกต่างจากที่กรมศุลกากรเคยตีความไว้แล้ว
โดยที่ปัจจุบันการตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของในพิกัดอัตราศุลกากรของพนักงานศุลกากรซึ่งได้กระทำตามหน้าที่หรือซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากร ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้เป็นมาตรฐานและประกันความเป็นธรรมในการเรียกเก็บอากรแก่ผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออก กล่าวโดยเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของชนิดเดียวกันซึ่งได้เคยมีการตีความ วินิจฉัยหรือจำแนกไว้แล้ว ทั้งนี้โดยส่งผลกระทบต่อการเรียกเก็บอากรที่เพิ่มขึ้นและให้มีผลย้อนหลัง การแก้ไขปรับปรุงพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ในประเด็นดังกล่าวจะทำให้ผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออก ได้รับความมั่นใจว่าในกรณีที่กรมศุลกากรมีการตีความพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าชนิดเดียวกันแตกต่างไปจากแนวทางเดิม จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประเมินอากรของที่นำเข้าหรือส่งออกก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก่อให้เกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการ และเพื่อให้การใช้ดุลยพินิจของพนักงานศุลกากรในกรณีดังกล่าวซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด เป็นไปโดยโปร่งใส และตรวจสอบได้
๑.๒ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรของตามภาค ๔
โดยที่บทบัญญัติในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากร ของพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ในส่วนของอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรให้กับของดังกล่าว มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภท โดยบางประเภทกำหนดให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บางประเภทกำหนดให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากร และบางประเภทมิได้กำหนดให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับของบางประเภทซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ ทำให้ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรไม่ทราบถึงรายละเอียดและเงื่อนไขการยกเว้นอากรสำหรับของดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้อธิบดีกรมศุลกากรสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรให้ของตามภาค ๔ ได้ทุกประเภท เนื่องจากหลักการยกเว้นอากรให้ของในแต่ละประเภทนั้น ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว การกำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นอากรจึงมีความจำเป็นเพื่อกำหนดรายละเอียดของการปฏิบัติพิธีการและเงื่อนไขของการยกเว้นอากรเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และสามารถแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้โดยรวดเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ
๑.๓ การยกเว้นอากรสำหรับของตามภาค ๔ ประเภท ๕ และประเภท ๖
ปัจจุบันการยกเว้นอากรให้ของตามภาค ๔ ประเภท ๕ (ของติดตัวผู้โดยสาร) และประเภท ๖ (ของใช้ในบ้านเรือนซึ่งนำเข้ามาเนื่องจากการย้ายภูมิลำเนา) นั้น กฎหมายกำหนดให้ยกเว้นอากรให้ของดังกล่าวซึ่งมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ทำให้ในทางปฏิบัติ การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าว ให้เป็นการยกเว้นอากรให้กับของที่มีจำนวนตามที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
๑.๔ การยกเว้นอากรสำหรับของตามภาค ๔ ประเภท ๑๙
ปัจจุบันการยกเว้นอากรให้กับภาชนะสำหรับบรรจุของ และอุปกรณ์ที่ใช้บรรจุ ยึด รัด กันกระแทกที่ใช้ในการขนส่งของนั้น กฎหมายบัญญัติให้ยกเว้นอากรสำหรับบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนดังกล่าวที่นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไปเท่านั้น ส่วนของดังกล่าวที่ส่งออกไปและจะนำกลับเข้ามานั้น จะได้รับยกเว้นอากรตามภาค ๔ ประเภท ๑ ทำให้การการยกเว้นอากรให้ของประเภทเดียวกัน ต้องปฏิบัติพิธีการที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในประเด็นดังกล่าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
๑.๕ การยกเว้นอากรให้กับเรือยอร์ชซึ่งนำเข้ามาเป็นการชั่วคราว
ปัจจุบันการยกเว้นอากรให้กับเรือยอร์ชซึ่งนำเข้ามาเป็นการชั่วคราวนั้น กฎหมายมิได้มีบทบัญญัติโดยเฉพาะ แต่กำหนดรวมไว้เป็น "เรือ" โดยอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่จะขยายระยะเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้ โดยเจ้าของต้องนำเรือเข้ามาพร้อมกับตน ทำให้ในทางปฏิบัติ เจ้าของเรือซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มั่นใจว่าจะสามารถจอดเรือยอร์ชในไทยต่อจาก 6 เดือนได้เพราะต้องแสดงเหตุผลถึงความจำเป็นหรือต้องซ่อมแซมเรือ ไม่สามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้ จึงไม่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยและนำเรือไปจอดในประเทศที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนมากเจ้าของเรือยอร์ชไม่ได้นำเรือเข้ามาด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้กัปตันนำเรือเข้ามา เจ้าของเรือจะโดยสารเครื่องบินมาจึงจำเป็นต้องเพิ่มประเภทใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้เรือยอร์ชของชาวต่างชาติให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับทางปฏิบัติ ก่อให้เกิดผลดีด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับเรือยอร์ชและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน
๒. หลักการและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย
๒.๑ การตีความพิกัดอัตราศุลกากรที่แตกต่างจากที่กรมศุลกากรเคยตีความไว้แล้ว
กำหนดให้พนักงานศุลกากรซึ่งได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อได้ตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของในพิกัดอัตราศุลกากรแตกต่างจากเดิมที่เคยตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของชนิดเดียวกัน การตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกดังกล่าว มิให้มีผลย้อนหลัง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
๒.๒ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรของตามภาค ๔
กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรของทุกประเภทตามภาค ๔ ของพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐
๒.๓ แก้ไขบทบัญญัติการยกเว้นอากรของตามภาค ๔ ประเภท ๕ และประเภท ๖
แก้ไขจากการยกเว้นอากรให้ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพซึ่งมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ และการยกเว้นอากรให้ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว ที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่องในการย้ายภูมิลำเนาและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เป็นการยกเว้นอากรให้ของดังกล่าวที่มีจำนวนตามที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด
๒.๔ แก้ไขบทบัญญัติการยกเว้นอากรของตามภาค ๔ ประเภท ๑๙
แก้ไขจากการยกเว้นอากรให้ภาชนะสำหรับบรรจุของ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้บรรจุ ยึด รัด กันกระแทก ไม่ว่าจะทำด้วยวัตถุใด ๆ ก็ตาม ที่นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไป เป็นการยกเว้นอากรให้ของดังกล่าวที่นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไป หรือที่ส่งออกไปและจะนำกลับเข้ามา
๒.๕ เพิ่มการยกเว้นอากรให้กับเรือยอร์ชซึ่งนำเข้ามาเป็นการชั่วคราว
กำหนดให้เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ โดยไม่ได้ใช้เพื่อการค้า ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไปภายในสามปีนับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา เป็นของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค ๔ ประเภท ๒๐ โดยผู้นำของเข้าต้องทำสัญญาและให้หลักประกันไว้ต่อกรมศุลกากรว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด
๓. บุคคลซึ่งได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
๓.๑ การตีความพิกัดอัตราศุลกากรที่แตกต่างจากที่กรมศุลกากรเคยตีความไว้แล้ว
ผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออก ได้รับความมั่นใจว่าในกรณีที่กรมศุลกากรมีการตีความพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าชนิดเดียวกันแตกต่างไปจากแนวทางเดิม จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประเมินอากรของที่นำเข้าหรือส่งออกก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก่อให้เกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการ
๓.๒ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรของตามภาค ๔
บุคคลทั่วไป นิติบุคคล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน บุคคลและหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามภาค ๔ จะทราบถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการใช้สิทธิดังกล่าว ทำให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ 
๓.๓ การแก้ไขบทบัญญัติการยกเว้นอากรของตามภาค ๔ ประเภท ๕ และประเภท ๖
บุคคลทั่วไปที่ใช้สิทธิยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวที่ตนนำเข้ามาเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และของใช้ในบ้านเรือนที่ตนนำเข้ามาเนื่องจากการย้ายภูมิลำเนา จะทราบถึงจำนวนและปริมาณของของดังกล่าวที่จะได้รับยกเว้นอากร ทำให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
๓.๔ การแก้ไขบทบัญญัติการยกเว้นอากรของตามภาค ๔ ประเภท ๑๙
ผู้ประกอบการที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนในการขนส่งของนำเข้าและส่งออก สามารถปฏิบัติพิธีการยกเว้นอากรสำหรับของดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งกรณีของที่นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไป และของที่ส่งออกและจะนำกลับเข้ามา
๓.๕ การยกเว้นอากรให้กับเรือยอร์ชซึ่งนำเข้ามาเป็นการชั่วคราว
บุคคลที่นำเรือยอร์ชเข้ามา ได้รับความมั่นใจว่า สามารถใช้เรือและจอดเรือในไทยได้ ๓ ปี และอาจขยายเวลาได้อีก ทำให้วางแผนการท่องเที่ยวและซ่อมบำรุงรักษาเรือได้ ก่อให้เกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจโดยเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว ท่าที่จอดเรือ การซ่อมบำรุงรักษาเรือ โรงแรม ร้านอาหาร และอื่น ๆ สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ได้แก่ การจ้างกัปตันและลูกเรือเพื่อดูแลเรือ การจ้างช่างซ่อมเรือ รวมทั้งพัฒนาการศึกษาด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการซ่อมเรือ การเป็นกัปตันเรือ เป็นต้น
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรือยอร์ช เช่น ท่าที่จอดเรือ อู่ซ่อมบำรุงรักษาเรือ โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ
๔. เหตุผลความจำเป็นในการกำหนดให้มีระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการ หรือการกำหนดโทษอาญา และหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
๔.๑ ระบบอนุญาต
ร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดให้มีระบบอนุญาตเพิ่มเติมขึ้นจากที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดีการยกเว้นอากรให้กับของตามภาค ๔ ในบางประเภทจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติหรืออนุญาต เนื่องจากมีความจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการในการควบคุมของดังกล่าว หรือต้องมีการกำหนดจำนวนหรือปริมาณของของที่จะได้รับยกเว้นอากร
๔.๒ ระบบคณะกรรมการ และการกำหนดโทษอาญา
ร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดให้มีระบบคณะกรรมการหรือการกำหนดโทษอาญา
๔.๓ หลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของในพิกัดอัตราศุลกากร ของพนักงานศุลกากร และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรแก่ของตามภาค ๔ ทุกประเภท เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทำให้การใช้ดุลยพินิจของพนักงานศุลกากรในเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้


ร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ...)
พ.ศ. ...
--------------------
.............................
..............................
..............................

...........................................................................................................................................................................................................................

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

...................................................................................................................................................................................................

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...."

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๐ ของใดซึ่งในเวลานำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรเพราะเหตุที่นำเข้ามาเพื่อใช้เองโดยบุคคลที่มีสิทธิเช่นนั้น หรือเพราะเหตุที่นำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะถ้าหากของนั้นได้โอนไปเป็นของบุคคลที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรหรือได้นำไปใช้ในการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ หรือสิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรสิ้นสุดลง ของนั้นจะต้องเสียอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันโอนหรือนำไปใช้ในการอื่น หรือวันที่สิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอากร สำหรับกรณีที่ได้รับลดหย่อนอากร ให้เสียอากรเพิ่มจากที่ได้เสียไว้แล้วให้ครบถ้วนตามจำนวนเงินอากรที่จะพึงต้องเสียทั้งหมดในเมื่อได้คำนวณตามเกณฑ์เช่นว่านั้น ทั้งนี้ ให้แจ้งขอชำระอากรหรืออากรเพิ่มต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่ได้นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ความรับผิดในอันจะต้องชำระอากรหรืออากรเพิ่มเกิดขึ้นและต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินอากรหรืออากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ ถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียอากร แต่มิให้นำมาตรา ๑๖๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาใช้บังคับในกรณีที่ของนั้นได้โอนไปโดยสุจริต"

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕/๒ แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ 
"มาตรา ๑๕/๒ พนักงานศุลกากรซึ่งได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อได้ตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของในพิกัดอัตราศุลกากรแตกต่างจากเดิมที่เคยตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกประเภทของของชนิดเดียวกัน การตีความ วินิจฉัย หรือจำแนกดังกล่าว มิให้มีผลย้อนหลัง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด"
 
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นหมายเหตุในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากร แห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๒ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๗ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๓ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๕ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๖ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๗ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๑ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๙ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๒ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๗ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๕ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๖ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๗ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในช่องรายการของประเภท ๑๙ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากรแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๗ และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน 

มาตรา ๑๗ ให้เพิ่มความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ เป็นช่องรายการของประเภท ๒๐ ในภาค ๔ ของที่ได้รับยกเว้นอากร แห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ  


.................................................
         นายกรัฐมนตรี             


บัญชีท้ายพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ 
(ฉบับที่..) พ.ศ. ....
------------------------
ภาค ๔
ของที่ได้รับยกเว้นอากร

หมายเหตุ ให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรแห่งของทุกประเภทในภาคนี้  

ประเภท รายการ
ของที่นำเข้ามาในประเทศไทยซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้ว และภายหลังส่งกลับออกไปซ่อม ณ ต่างประเทศ หากนำกลับเข้ามาภายในหนึ่งปี หลังจากที่ได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา ซึ่งได้ออกให้ในขณะที่ได้ส่งออกแล้ว หรือของที่ได้รับอนุญาตให้นำออกไปผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใด ณ ต่างประเทศ หากนำกลับเข้ามาภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้นำออกไป
หมายเหตุ 
ก. ของที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภทนี้ให้ได้รับยกเว้นเพียงเท่าราคาหรือปริมาณแห่งของเดิมที่ส่งออกไปเท่านั้น
ข. ในการคำนวณเงินอากรสำหรับของที่ส่งออกไปซ่อมให้ถือตามพิกัดอัตราอากรของเดิมที่ส่งออกไปซ่อม โดยคำนวณจากราคาหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการประกันภัย ส่วนการคำนวณเงินอากรสำหรับของที่ผ่านกระบวนการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใด ให้ถือตามสภาพของราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในขณะนำกลับเข้ามา โดยไม่ต้องนำของเดิมที่ส่งออกไปมาคำนวณภาษี
ค. อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะสั่งให้ได้รับการยกเว้นจากบทบัญญัติที่ว่าด้วยใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาหรืออาจอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปอีก ตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
ง. สำหรับการส่งของออกไปเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใด หรือการกำหนดรายละเอียดหรือการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งของใด ๆ รวมทั้งการอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ของที่กล่าวไว้ข้างล่างนี้ ถ้านำเข้ามาพร้อมกับตนหรือนำเข้ามาเป็นการชั่วคราว และจะส่งกลับออกไปภายในไม่เกินหกเดือนนับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา
(ก) ของที่ใช้ในการแสดงละครหรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายกัน ซึ่งผู้แสดงที่ท่องเที่ยวนำเข้ามา
(ข) เครื่องประกอบและของใช้ในการทดลองหรือการแสดงเพื่อวิทยาศาสตร์หรือการศึกษา ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาเพื่อจัดการทดลองหรือแสดง
(ค) รถสำหรับเดินบนถนน เรือ และอากาศยาน บรรดาที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน
(ง) เครื่องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาเพื่อใช้ถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงต่าง ๆ แต่ฟิล์มและแผ่นสำหรับถ่ายรูปหรือสิ่งที่ใช้บันทึกเสียงซึ่งนำมาใช้ในการนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและปริมาณที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
(จ) อาวุธปืนและกระสุนปืน ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาพร้อมกับตน
(ฉ) ของที่นำเข้ามาเป็นการชั่วคราว โดยมุ่งหมายจะแสดงในงานสาธารณะที่เปิดให้ประชาชน ดูได้ทั่วไป
(ช) ของที่นำเข้ามาเพื่อซ่อม
(ซ) ตัวอย่างสินค้า นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ ๑๔ ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาพร้อมตน และมีสภาพซึ่งเมื่อจะส่งกลับออกไปสามารถตรวจได้แน่นอนว่าเป็นของอันเดียวกับที่นำเข้ามา แต่ต้องมีปริมาณหรือค่าซึ่งเมื่อรวมกันเข้าแล้วไม่เกินกว่าที่จะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างตามธรรมดา
(ญ) เครื่องมือและสิ่งประกอบ สำหรับงานก่อสร้าง งานพัฒนาการ รวมทั้งกิจการชั่วคราวอย่างอื่น ตามที่อธิบดีกรมศุลกากรจะเห็นสมควร
หมายเหตุ 
เครื่องมือและสิ่งประกอบสำหรับงานก่อสร้างให้ได้รับยกเว้นเพียงเท่าเงินอากรที่จะพึงต้องเสียในขณะนำเข้าหักด้วยจำนวนเงินอากรที่คำนวณตามระยะเวลาที่ของนั้นอยู่ในประเทศ ในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของจำนวนเงินอากรที่จะพึงต้องเสียในขณะนำเข้า ในการคำนวณให้นับเศษของเดือนเป็นหนึ่งเดือน และจะต้องชำระอากรก่อนส่งกลับออกไป กับทั้งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดด้วย
หมายเหตุ 
๑. ของตามที่กล่าวในประเภทนี้ ผู้นำของเข้าต้องทำสัญญาไว้ต่อกรมศุลกากรว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด อธิบดีกรมศุลกากรจะเรียกประกันอย่างใด และเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร และจะคืนเงินหรือให้ถอนหลักประกันที่วางไว้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยครบถ้วนแล้ว ระยะเวลาหกเดือนตามที่กำหนดไว้นี้ อธิบดีกรมศุลกากรจะขยายกำหนดระยะเวลาออกไปอีกตาม ความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
๒. คำว่า "นำเข้ามาพร้อมกับตน" ให้หมายความถึงของที่เข้ามาถึงประเทศไทย ไม่เกินหนึ่งเดือนก่อนที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึง หรือไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึง อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจขยายกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นได้เมื่อเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษ
ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนตามที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด เว้นแต่รถยนต์อาวุธปืนและกระสุนปืน และเสบียง แต่สุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตนนั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควรเป็นแห่งๆ ไป แต่ต้องไม่เกินปริมาณดังนี้
(ก) บุหรี่สองร้อยมวน หรือซิการ์หรือยาเส้นอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกัน มีน้ำหนักทั้งหมดสองร้อยห้าสิบกรัม แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกินสองร้อยมวน
(ข) สุราหนึ่งลิตร
ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว ที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่องในการย้ายภูมิลำเนา และมีจำนวนตามที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
หมายเหตุ
ของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือนตามประเภทที่ ๕ และ ๖ นั้น จะต้องนำเข้ามาถึงประเทศไทยไม่เกินหนึ่งเดือนก่อนที่ผู้นำของเข้า เข้ามาถึงหรือไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึง อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจขยายกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นได้เมื่อเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษ
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของอากาศยานหรือเรือ รวมทั้งวัสดุที่นำเข้ามาเพื่อใช้ซ่อมหรือสร้างอากาศยานหรือเรือหรือส่วนของอากาศยานหรือเรือดังกล่าว
๑๑ ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปเพื่อบริจาคเป็นการสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยผ่านส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หรือเป็นของที่นำเข้ามาเพื่อให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การ สาธารณกุศล ทั้งนี้ไม่รวมถึง
ก. รถยนต์และยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลไม่เกิน ๙ คน รวมทั้งคนขับ เว้นแต่รถพยาบาล
ข. รถยนต์บรรทุกของชนิดแวนและชนิดปิกอัพและรถยนต์ที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (จี.วี.ดับบลิว) ไม่เกิน ๕ ตัน และรถยนต์ดังกล่าวที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (จี.วี.ดับบลิว) เกิน ๕ ตัน ที่มีเครื่องยนต์ที่มิใช่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบที่จุดระเบิดด้วยการอัด (ดีเซลหรือกึ่งดีเซล) หรือที่จุดระเบิดด้วยประกายไฟ
หมายเหตุ 
คำว่า "ส่วนราชการ" หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
๑๒ ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกินที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด
๑๕ ภาชนะบรรจุของชนิดที่ใช้บรรจุของเพื่อความสะดวกหรือความปลอดภัย ในการขนส่งระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า "คอนเทนเนอร์" ซึ่งนำเข้าและจะส่งกลับออกไป ไม่ว่าจะโดยมีของบรรจุอยู่หรือไม่
๑๖ ของที่นำเข้ามาสำหรับคนพิการใช้โดยเฉพาะ หรือใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
หมายเหตุ
คำว่า "คนพิการ" และ "การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" ให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
๑๗ ของที่พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของอธิบดีกรมศุลกากรว่าเป็นของที่จำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ และมีปริมาณพอสมควรแก่การนั้น
๑๙ ภาชนะสำหรับบรรจุของ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้บรรจุ ยึด รัด กันกระแทก ไม่ว่าจะทำด้วยวัตถุใด ๆ ก็ตาม ที่นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไป หรือที่ส่งออกไปและจะนำกลับเข้ามา
๒๐ เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ โดยไม่ได้ใช้เพื่อการค้า ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาและจะส่งกลับออกไปภายในสามปีนับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา
หมายเหตุ
๑. ของตามที่กล่าวในประเภทนี้ ผู้นำของเข้าต้องทำสัญญาไว้ต่อกรมศุลกากรว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด อธิบดีกรมศุลกากรจะเรียกประกันอย่างใด และเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร และจะคืนเงินหรือให้ถอนหลักประกันที่วางไว้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยครบถ้วนแล้ว
๒. ระยะเวลาสามปีตามที่กำหนดไว้นี้อธิบดีกรมศุลกากรจะขยายกำหนดระยะเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้


ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการปกป้องการล่วงละเมิดและคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องได้รับความยินยอม พร้อมทั้งแจ้งวัตถุประสงค์ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบโดยชัดแจ้ง ไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ผ่านแบบรับฟังความคิดเห็นที่ปรากฏนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยกรมศุลกากรจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของท่านเป็นความลับ และใช้การนำเสนอข้อมูลในลักษณะของการวิเคราะห์เชิงภาพรวมเท่านั้น ซึ่งบุคคลอื่นจะไม่สามารถดูรายละเอียดของการแสดงความเห็นได้