ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ด้วยกรมศุลกากรได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ในประเด็นที่มีความเร่งด่วนก่อน ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร www.customs.go.th ในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ หัวข้อ "การรับฟัง ความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ..." รายละเอียดดังนี้

๑. ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
๒. ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
๓. วิธีการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้
  ๓.๑ รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร www.customs.go.th หัวข้อ "การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ...."
  ๓.๒ ดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร และส่งมายังช่องทางดังต่อไปนี้
    (๑) ทาง e-mail ๖๕๐๕๐๐๐๐@customs.go.th
    (๒) นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ "สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ถนนสุนทรโกษา คลองเตย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๑๐"

สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร
โทร ๐ ๒๖๖๗ ๗๐๐๐ ต่อ ๖๒๗๐,๖๓๒๒

ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

๑. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา

ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ กรมศุลกากรได้จัดให้มี การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา พบว่ามีปัญหาที่สำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจอธิบดีไว้อย่างชัดเจน ในการกำหนดระเบียบการกักของ การขายทอดตลาด และการหักใช้เงินจากการขายทอดตลาด การกำหนดระเบียบการยึดและการขายทอดตลาดทรัพย์สิน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการสืบทรัพย์ของ ผู้ค้างชำระอากร การกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการยื่นทุเลาการเสียอากรและการพิจารณาทุเลาการเสียอากร และการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมถึงการดำเนินพิธีการศุลกากรอื่น นอกจากนี้ การกำหนดระยะเวลา การประเมินอากร ความรับผิดในการเสียอากรสำหรับการนำของเข้าหรือส่งของออกทางบก และของตกค้าง ยังมีความไม่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติกำหนดการขยายระยะเวลาในการนำของผ่านแดนหรือถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักร การดำเนินการกับของผ่านแดนหรือถ่ายลำที่ตกเป็นของแผ่นดิน การกำหนดให้โรงพักสินค้าหรือที่มั่นคงเป็นสถานที่สำหรับตรวจ เก็บ หรือตรวจปล่อย ของผ่านแดนหรือถ่ายลำ และของที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับยกเว้นหรือคืนอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากนำเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา ๑๑๖(๑) จะไม่ได้รับการยกเว้นหรือคืนอากรเช่นเดียวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๑๖ (๒) หรือ (๓) ตลอดจนบทกำหนดโทษที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจากสภาพปัญหาที่กล่าวมา จึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

๒. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย

จากสภาพปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของพนักงานศุลกากร และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของผู้นำของเข้าหรือส่งของออก

๓. หลักการอันเป็นสาระสำคัญ

ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อปรับปรุงบทบัญญัติบางมาตราที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอหรือมีปัญหาในการตีความ หรือที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน หรือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่มีกำหนดไว้ โดยมีส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

(๑) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๙ เพื่อกำหนดระยะเวลาการประเมินอากรของพนักงานศุลกากรให้มีความเหมาะสม
(๒) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๓ เพื่อกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจออกระเบียบในการกักของ การขายทอดตลาด และการหักใช้เงินจากการขายทอดตลาด
(๓) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๔ เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระอากร เนื่องจากไม่มีของให้กักตามมาตรา ๒๓ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินต่อไปได้ กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในเรื่องการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยอนุโลม ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สินด้วย ตลอดจนกำหนดลำดับการหักใช้เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องอำนาจอธิบดีในการยึดหรืออายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระอากรให้หมายความรวมถึงผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วย
(๔) เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๔/๑ กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสืออายัด สิทธิเรียกร้องของผู้ค้างชำระอากรต่อบุคคลภายนอก สั่งให้ผู้ค้างชำระอากรงดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้อง ห้ามบุคคลภายนอกชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ค้างชำระอากร ตลอดจนฟ้องคดีต่อศาลกรณี ที่บุคคลภายนอกปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน และนำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้
(๕) เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๔/๒ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัด
(๖) เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๔/๓ กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจออกหนังสือเรียกหรือสั่งให้ ผู้ค้างชำระอากรและบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาตรวจสอบ
และออกคำสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานศุลกากรทำการตรวจค้นหรือยึดบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของบุคคลดังกล่าวโดยต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (๗) เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๔/๔ กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งถอนคำสั่งยึดหรืออายัดได้ เมื่อมีการชำระเงินค่าใช้จ่ายในการยึดหรืออายัดและค่าอากรที่ค้างชำระโดยครบถ้วนแล้ว
(๘) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๓๘ เพื่อให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นทุเลาการเสียอากรและการพิจารณาทุเลาการเสียอากร
(๙) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องความรับผิดในการเสียอากรสำหรับการนำของเข้าหรือส่งของออกทางบก
(๑๐) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๕๑ เพื่อให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ครอบคลุมถึงการดำเนินพิธีการศุลกากรอื่น
(๑๑) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๐๒ เพื่อให้สามารถขยายระยะเวลาการนำของผ่านแดนหรือถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
(๑๒) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๐๓ เพื่อกำหนดการดำเนินการกับของผ่านแดนหรือ ของถ่ายลำที่ตกเป็นของแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม
(๑๓) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๐๗ เพื่อกำหนดให้ของที่มีการยื่นใบขนสินค้า และไม่ได้นำออกไปจากอารักขาของศุลกากรภายในกำหนด ให้สามารถดำเนินการเป็นของตกค้างได้
(๑๔) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๑๑ เพื่อให้โรงพักสินค้าหรือที่มั่นคงที่ตั้งอยู่ใน เขตด่านศุลกากรสามารถตรวจ เก็บ หรือตรวจปล่อยของผ่านแดนหรือถ่ายลำได้
(๑๕) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๒๗ เพื่อให้ของที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา ๑๑๖ (๑) ได้รับการยกเว้นหรือคืนอากรเช่นเดียวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๑๖ (๒) หรือ (๓)
(๑๖) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๒๗ เนื่องจากเป็นความผิดในลักษณะเดียวกันกับมาตรา ๒๔๒ ฐานลักลอบหนีศุลกากร จึงควรบัญญัติโทษไว้เป็นเช่นเดียวกัน
(๑๗) เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔/๑ มาตรา ๒๐๔/๒ มาตรา ๒๓๒/๑ และมาตรา ๒๓๒/๒ เพื่อกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๒๔/๒ มาตรา ๒๔/๓ มาตรา ๑๐๓ วรรคสอง และมาตรา ๑๐๕ ตามลำดับ